ในปัจจุบันมีธุรกิจใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขายของออนไลน์ ขายของแบบมีหน้าร้านหรือไม่มีหน้าร้าน ที่สร้างรายได้ให้กับเจ้าของธุรกิจ แต่การจดทะเบียนร้านค้ามีความสำคัญอย่างมากในการก่อตั้งธุรกิจ แม้ว่าการขายอาหารในลักษณะเป็นรถเข็น หรือตั้งเป็นแผงลอย กฎหมายได้ยกเว้นไม่ต้องจดทะเบียนการค้าร้านอาหาร แต่ถ้าเปิดเป็นร้านอาหารมีที่นั่งรับประทานในร้าน จำเป็นจะต้อง จดทะเบียนการค้าร้านอาหาร ไม่ว่าจะเป็นจดทะเบียนร้านอาหารบุคคลธรรมดา หรือ จดทะเบียนการค้าร้านอาหาร เพื่อให้เปิดขายได้อย่างเปิดเผย และถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งการจดทะเบียนร้านค้าสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ได้ดังนี้
จดทะเบียนพาณิชย์แบบบุคคลธรรมดา
การจดทะเบียนร้านอาหารแบบบุคคลธรรมดา เป็นรูปแบบที่ร้านอาหารเปิดใหม่ขนาดเล็ก และขนาดกลาง เหมาะสำหรับร้านที่มีเจ้าของกิจการคนเดียว ธุรกิจครอบครัว แบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน โดยหุ้นส่วนทุกคนต้องเสียภาษีแบบบุคคลธรรมดา
-
สิ่งที่ต้องเตรียมก่อนจดทะเบียนร้านอาหารแบบบุคคลธรรมดา
-
- คำขอจดทะเบียนการค้า (แบบ ทพ.)
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้จดทะเบียนการค้า
- สำเนาทะเบียนบ้านของผู้จดทะเบียนการค้า กรณีที่ผู้จดทะเบียนการค้าไม่ได้เป็นเจ้าบ้านของสถานที่ตั้งร้าน ต้องแนบเอกสารเพิ่มเติม ดังนี้
- หนังสือให้ความยินยอมให้ใช้สถานที่ตั้งสำนักงานใหญ่
- สำเนาทะเบียนบ้านที่แสดงให้เห็นว่าผู้ให้ความยินยอมเป็นเจ้าบ้าน หรือสำเนาสัญญาเช่า โดยมีผู้ให้ความยินยอมเป็นผู้เช่า หรือเอกสารสิทธิ์อย่างอื่นที่ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เป็นผู้ให้ความยินยอม
- แผนที่ตั้งของร้าน
- หนังสือมอบอำนาจ (กรณีที่ไม่ได้ไปยื่นจดทะเบียนด้วยตัวเอง)
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ (ถ้ามี)
- ค่าธรรมเนียม 50 บาท
เมื่อเราเตรียมเอกสารทั้งหมดแล้ว สำหรับการจดทะเบียนร้านอาหารแบบบุคคลธรรมดา ต้องจดภายใน 30 วันนับแต่วันเริ่มเปิดกิจการ และเมื่อจดทะเบียนการค้าร้านอาหารแล้ว เจ้าของกิจการร้านอาหารต้องแสดงใบทะเบียนการค้า (ใบทะเบียนพาณิชย์) ไว้ที่สำนักงานในบริเวณที่เปิดเผยและมองเห็นได้ง่าย และต้องติดป้ายชื่อร้านไว้หน้าร้าน รวมถึงถ้ามีร้านสาขาก็ต้องติดป้ายชื่อร้านบริเวณที่เปิดเผยด้วยเช่นกัน
จดทะเบียนพาณิชย์แบบนิติบุคคล
การจดทะเบียนในรูปแบบนิติบุคคลจะมีขั้นตอนยุ่งยากกว่ารูปแบบบุคคลธรรมดา เพราะในทางกฎหมายนิติบุคคลถือว่าธุรกิจนั้นแยกออกจากความเป็นบุคคลธรรมดา มีกฎหมาย กฎระเบียบ และความรับผิดชอบเฉพาะ ซึ่งประเภทของการจัดตั้งธุรกิจใหม่เป็นนิติบุคคลที่นิยมจดจะมี 2 ประเภท คือ บริษัทจำกัดกับห้างหุ้นส่วนจำกัด
-
สิ่งที่ต้องเตรียมก่อนจดทะเบียนร้านอาหารแบบนิติบุคคล
- คำขอจดทะเบียนการค้า (ทะเบียนพาณิชย์) (แบบ ทพ.)
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน
- สำเนาทะเบียนบ้านของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน
- หนังสือหรือสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล
- หนังสือให้ความยินยอมให้ใช้สถานที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่
- สำเนาทะเบียนบ้านที่แสดงให้เห็นว่าผู้ให้ความยินยอมเป็นเจ้าบ้านหรือผู้ขอเลขที่บ้าน หรือสำเนาสัญญาเช่า โดยมีผู้ให้ความยินยอมเป็นผู้เช่า หรือเอกสารสิทธิ์อย่างอื่นที่ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เป็นผู้ให้ความยินยอม
- แผนที่แสดงที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่และสถานที่สำคัญบริเวณใกล้เคียงโดยสังเขป
- หนังสือมอบอำนาจ (กรณีที่ผู้ประกอบร้านค้าไม่ได้ไปยื่นจดทะเบียนด้วยตัวเอง)
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ (ถ้ามี)
- ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน 50 บาท
ทำไมควรจดทะเบียนร้านอาหาร
- ความถูกต้องตามกฎหมายและข้อบังคับ การจดทะเบียนร้านอาหารทำให้กิจการมีความถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสาธารณะ
- สิทธิในการดำเนินกิจการอย่างถูกต้อง ซึ่งหมายถึงการได้รับการยอมรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้สามารถใช้สิทธิประโยชน์ที่รัฐบาลหรือหน่วยงานอื่น ๆ มอบให้ได้
- สร้างความเชื่อถือในตลาดและผู้บริโภค โดยทำให้ร้านอาหารเป็นกลางที่มีความเชื่อถือและสามารถที่จะแข่งขันได้ในตลาดที่มีการแข่งขันรุนแรง เนื่องจากผู้บริโภคมั่นใจว่าร้านอาหารมีคุณภาพและปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดไว้
- ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ เนื่องจากมีเอกสารและขั้นตอนที่ชัดเจน เช่น การจัดการพนักงาน การจัดการอาหารและสารอาหาร และการบริการลูกค้าที่ดี เพื่อสร้างมูลค่าให้กับกิจการในระยะยาว
ร้านอาหารไม่มีหน้าร้าน (Ghost Kitchen) ต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไหม
ในยุคที่ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านก็สามารถเปิดร้านอาหารได้ หรือที่เรียกกันว่า Ghost Kitchen ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจร้านอาหาร แบบที่มีเฉพาะครัวเท่านั้น ไม่มีที่นั่งสำหรับรองรับลูกค้าที่หน้าร้าน เน้นขายอาหารผ่านทางออนไลน์ หรือแอปพลิเคชันฟู้ดเดลิเวอรี่ (Food Delivery) ต่าง ๆ ก็มีความจำเป็นต้องจดทะเบียนพาณิชย์ เพราะหากไม่จดถือว่าเรามีความผิดตาม พ.ร.บ. ทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499 ต้องจ่ายค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท และมีค่าปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 100 บาทอีกด้วย
จดทะเบียนแบบบุคคลธรรมดา-แบบนิติบุคคล ต่างกันอย่างไร
ข้อแตกต่าง | บุคคลธรรมดา | นิติบุคคล |
การประกอบกิจการ | มีอิสระ คล่องตัวกว่า ตัดสินใจง่าย และรวดเร็วกว่า เนื่องจากมีเจ้าของกิจการคนเดียว | เกิดไอเดียที่หลากหลาย แต่จะตัดสินใจล่าช้ากว่า และอาจเกิดความขัดแย้งได้ง่ายกว่า |
การลงทุน | เงินทุนคงที่ตามที่เจ้าลงทุน | มีเงินทุนหมุนเวียน จากการซื้อขายหุ้นส่วน แถมระดมทุนจาก ที่อื่นได้ง่ายกว่า |
ผลกำไร | กำไรหรือขาดทุน เจ้าของกิจการเป็นผู้รับผิดชอบผู้เดียว |
แบ่งกำไรตามสัดส่วนการ ถือหุ้น |
การจดทะเบียน | ขั้นตอนง่าย ไม่ซับซ้อน | มีขั้นตอนจัดการที่ยุ่งยาก ค่าใช้จ่ายดำเนินการสูงกว่า |
ความน่าเชื่อถือ |
ความน่าเชื่อถือน้อยกว่า อาจจะถูกมองว่าไม่มั่นคง ผลกำไร |
บุคคลภายนอกมองว่าน่า เชื่อถือกว่า |
การเสียภาษี | เสียภาษีแบบเหมาจ่าย แม้ว่าปีนั้นจะขาดทุน | เสียภาษีโดยคำนวณจากผลกำไรของกิจการ |
สิ่งที่อาจต้องใช้เพิ่มเติมนอกเหนือจากการจดทะเบียน
- ใบอนุญาตสะสมอาหาร
ในการทำร้านอาหาร อาจจะต้องมีการจัดสต๊อกวัตถุดิบจำนวนมาก ๆ เพื่อควบคุมราคาต้นทุน ซึ่งมีวัตถุดิบบางประเภทที่จะต้องขออนุญาตก่อน เช่น เนย, เนยเทียม, กาแฟทุกรูปแบบ, น้ำส้มสายชู, ไวน์, ปลาร้า เป็นต้น
- ภาษีป้าย
ภาษีที่จัดเก็บจากป้ายแสดงชื่อ ยี่ห้อ หรือเครื่องหมายที่ใช้ประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่น รวมถึงโฆษณาการค้าหรือกิจการอื่นเพื่อหารายได้ในทุกรูปแบบ
- ใบอนุญาตจำหน่ายสุรา
ยื่นเรื่องขอใบอนุญาตจำหน่ายสุราและใบอนุญาตยาสูบ ที่กรมสรรพสามิตในพื้นที่ร้านอาหารของคุณ โดยใบอนุญาตมีอายุ 1 ปี
- การขออนุญาตตั้งสถานบริการ
หากเป็นร้านที่มีการแสดงดนตรีสด หรือเข้าข่ายสถานบันเทิง จะต้องมีการขออนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และ ขออนุญาตตั้งสถานบริการกับสำนักงานเขต หรือกรมปกครองส่วนท้องถิ่นก่อน
- ลิขสิทธิ์เพลง
หากมีการเปิดเพลงจากแผ่นบันทึกเสียง หรืออินเทอร์เน็ต จำเป็นต้องขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อน โดยอัตราค่าธรรมเนียมขึ้นอยู่กับเจ้าของลิขสิทธิ์กำหนด
ไม่ว่าจะจดทะเบียนพาณิชย์แบบบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ยังมีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามกฎหมายกำหนด ไม่ว่าจะเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีป้าย ภาษีที่ดินให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้สามารถทำการค้าได้อย่างเปิดเผย และสร้างความน่าเชื่อถือให้ร้านค้า และเพิ่มยอดขายโดยการสมัคร GrabMerchant หรืออยากดูรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถดูได้ https://www.grab.com/th/merchant/