เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา แกร็บ ประเทศไทย ได้เชิญผู้นำทางความคิดชั้นนำระดับประเทศจากทั้งภาครัฐและเอกชนมาร่วมงานเสวนาเชิงนโยบายประจำปี “GrabNEXT 2024: Driving towards the Future of Tourism ขับเคลื่อนการท่องเที่ยว สู่อนาคตที่ดีกว่า” เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหาแนวทางในการส่งเสริมเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ ด้วยการยกระดับการท่องเที่ยวไทยให้พร้อมตอบสนองพฤติกรรมนักท่องเที่ยวยุคใหม่ผ่านกลยุทธ์ “T.R.A.V.E.L.” โดยได้รับเกียรติจาก นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมเป็นประธานในพิธี และกล่าวปาฐกถาพิเศษซึ่งเน้นยำ้ถึงเป้าหมายของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาที่ต้องการยกระดับประเทศไทยให้เป็น Tourism Hub หรือศุนย์กลางการท่องเที่ยวของภูมิภาค พร้อมตั้งเป้าหมายรายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 3.5 ล้านล้านบาท ซึ่งทางกระทรวงได้ขอบคุณแกร็บ ประเทศไทย ที่จัดงานในครั้งนี้พร้อมทั้งยังช่วยสนับสนุน ผลักดันการเดินทางท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพทั่วประเทศไทยด้วยดีเสมอมา และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าองค์กรต่างๆจะเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพลิกฟื้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและนำพาเศรษฐกิจไทยให้รุดหน้าต่อไป
หนึ่งในไฮไลท์ที่สำคัญของงาน GrabNEXT ในครั้งนี้ คือ เวทีเสวนาวิชาการ (Panel Discussion) ภายใต้หัวข้อ “พลิกโฉมประสบการณ์การท่องเที่ยวไทย สู่มาตรฐานใหม่ที่ยั่งยืน” โดยมุ่งเน้นไปที่ 4 ประเด็นหลัก คือ
- ทิศทางและอนาคตการท่องเที่ยวไทย: มุ่งสู่การท่องเที่ยวที่มีความหมายและยั่งยืน
- ปลอดภัยไว้ก่อน: ยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัยในโลกที่เปลี่ยนไป
- การต้อนรับอย่างจริงใจ: การสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างเป็นหนึ่งเดียวกับประสบการณ์ท้องถิ่น
- การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน: สมดุลระหว่างความรับผิดชอบต่อสังคม การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการเติบโตทางเศรษฐกิจ
โดยได้ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่ คุณนิธี สีแพร รองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ด้านสื่อสารการตลาด ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการและหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร และคุณเพลินพิศ โกศลยุทธสาร ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการตลาดด้านการท่องเที่ยวและพันธมิตร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มาแลกเปลี่ยนทัศนะ พร้อมกันกับ คุณเมธิณี อนวัชกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานธุรกิจการเดินทาง-ขนส่ง และบริหารพาร์ทเนอร์คนขับ แกร็บ ประเทศไทย
บทความนี้จะช่วยสรุป 4 ประเด็นสำคัญที่เหล่าผู้เชี่ยวชาญได้เสนอแนะและแลกเปลี่ยนกันในช่วงของการเสวนาภายในงาน GrabNEXT ในครั้งนี้
ทิศทางและอนาคตการท่องเที่ยวไทย: มุ่งสู่การท่องเที่ยวที่มีความหมายและยั่งยืน
ในส่วนของทิศทางและอนาคตการท่องเที่ยวไทย คุณนิธี กล่าวถึง วิสัยทัศน์ “Ignite Thailand: ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน” ว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวคืออีกหนึ่งอุตสาหกรรมหลักที่รัฐบาลตั้งเป้าว่าจะผลักดันการท่องเที่ยวไทยให้ก้าวสู่ระดับชั้นนำในฐานะ “High value destination” ที่มีการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งทางฝั่ง ดร.พิพัฒน์ ก็ได้กล่าวสนับสนุนว่า การท่องเที่ยวนั้นเป็นเครื่องจักรที่สำคัญมากของเศรษฐกิจไทย และจากทิศทางในอนาคต การตั้งเป้าแค่เฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยวนั้นอาจไม่เพียงพอ และจำเป็นที่จะต้องพิจารณา “คุณค่า” ด้านอื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของนักท่องเที่ยว หรือการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวไปสู่เศรษฐกิจภาคส่วนอื่นๆ
ปลอดภัยไว้ก่อน: ยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัยในโลกที่เปลี่ยนไป
คุณเมธิณีชี้ว่า ประเด็นความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญของการท่องเที่ยวที่จะทำให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาสามารถเดินทางและเก็บเกี่ยวประสบการณ์ท่องเที่ยวได้มั่นใจไร้กังวล ซึ่งสำหรับแกร็บ ความปลอดภัยเป็นเรื่องที่ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก มีมาตรการความปลอดภัยกำกับทั้งก่อน ระหว่าง และหลังเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นการตรวจประวัติอาชญากรรมตั้งแต่รับสมัครคนขับ การทำงานร่วมกับภาครัฐหรือเอกชนในการอบรมคนขับเรื่องความปลอดภัย การนำเทคโนโลยี เช่น AI มาตรวจจับ GPS ป้องกันการออกนอกเส้นทาง หรือปุ่มฉุกเฉินให้ผู้โดยสารสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทันทีเมื่อเกิดเหตุ นอกจากนี้ ยังมีการให้ประกันอุบัติเหตุและประกันชีวิตให้ทุกเที่ยวการเดินทางเพื่อสร้างความมั่นใจในการเดินทางให้กับนักท่องเที่ยว
การต้อนรับอย่างจริงใจ: การสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างเป็นหนึ่งเดียวกับประสบการณ์ท้องถิ่น
คุณนิธีได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นของประสบการณ์ท้องถิ่นในการท่องเที่ยวว่า นักท่องเที่ยวในปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับประสบการณ์การท่องเที่ยวที่แตกต่าง เน้นการเรียนรู้อัตลักษณ์ของแต่ละท้องที่ ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเองก็พยายามสนับสนุน Immersive Experience ร่วมกับท้องถิ่น ให้การมาประเทศไทยเป็น Once In A Lifetime Experience โดยที่คนไทยถือเป็น Soft Power ที่สามารถนำเสนอความเป็นไทยสู่สากลได้ดีทีสุด ซึ่งคุณเมธิณีได้เสริมว่า แกร็บเองก็ทำหน้าที่เป็น “เส้นเลือดฝอย” ที่ช่วยให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงสถานที่ท่องเที่ยวและสัมผัสประสบการณ์ท้องถิ่นได้อย่างสะดวกสบายด้วยแนวคิด Freedom of Mobility สามารถเดินทางได้อย่างอิสระ และมีการช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองหรือ Hidden Gems ต่างๆผ่านรีวิวในแอปและความร่วมมือกับผู้ประกอบการท้องถิ่น
การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน: สมดุลระหว่างความรับผิดชอบต่อสังคม การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ดร.พิพัฒน์ได้นำเสนอแนวคิดด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนว่า ควรมีการตั้งโจทย์ว่าจะบริหารจัดการอย่างไรไม่ให้การสร้างรายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต้องแลกกับต้นทุนที่หนักเกินไปจนไปกระทบกับการสร้างรายได้ของคนรุ่นหลัง นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวให้เชื่อมโยงไปสู่อุตสาหกรรมอื่นเพื่อให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนอย่างเป็นองค์รวม ส่วนคุณเพลินพิศได้เสริมแง่มุมด้านความยั่งยืนของอุตสาหกรรมการบินว่า ความยั่งยืนและการลดการปล่อยคาร์บอนเป็นเรื่องจำเป็นต่อการที่ประเทศไทยจะมุ่งเป้าไปสู่การเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ในภูมิภาค เนื่องจากข้อกำหนดด้านการบินในหลายประเทศที่ให้นำเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืนมาใช้ ซึ่งทางบางกอกแอร์เวย์เองก็ตั้งเป้าที่จะเป็นสายการบินรักษ์โลกด้วยเป้าหมายการเป็นสายการบิน Net Zero ภายในปี 2550
สุดท้ายทางคุณเมธิณีสรุปว่า เทคโนโลยีนั้นไม่ได้เข้ามาแทนธุรกิจรูปแบบดั้งเดิม แต่เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยส่งเสริมให้สามารถสร้างรายได้ให้มากขึ้น เช่น คนขับแท็กซี่สามารถเลือกเปิดแอปแกร็บเพื่อให้สามารถเข้าถึงความต้องการของผู้โดยสารที่อาจมองไม่เห็นด้วยตัวเองตามท้องถนน หรือผู้ประกอบการท้องถิ่นเองก็สามารถทำให้ธุรกิจของตนเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคมากขึ้นผ่านแอป ซึ่งคุณนิธีเสริมว่า การเข้าถึงบริการที่มีมาตรฐานนั้นเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ดีและช่วยสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ ซึ่งแกร็บเป็นตัวอย่างที่ดีของบริการที่สามารถดูแลนักท่องเที่ยวตั้งแต่ต้นจนจบการเดินทางและเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างระบบนิเวศน์ของธุรกิจท่องเที่ยวที่ยั่งยืน